ยาสมุนไพร ปลอดภัย เมื่อใช้ถูกหลัก คนทั่วไปในปัจจุบันและเมื่อกล่าวถึง “สมุนไพร” ก็อาจจะคิดว่าเป็นเพียงพืชหรือต้นไม้ที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น ทำให้รู้สึกปลอดภัยในการเลือกใช้ ทำให้พบปัญหาจากการนำสมุนไพรมาใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกวิธี จนทำให้เกิดโทษต่อตัวของผู้ใช้ โดยพบรายงานทางคลินิกเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่นำไปใช้สำหรับเป็นยารักษาโรค

อันตรายที่เกิดจากการใช้สมุนไพร
- สำหรับอันตรายที่เกิดจากการใช้สมุนไพรนั้นจากข้อมูลการศึกษาที่มีหลักฐานชัดเจน จากข้อมูลที่อ้างอิงจากการทดลองหรือกรณีศึกษา การแบ่งจำแนกเป็น 7 กลุ่ม โดยที่สมุนไพร 1 ชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่า 1 กลุ่ม
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ (Allergic reactions)
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดความเป็นพิษ (Toxic reactions)
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Adverse effects)
- การใช้สมุนไพรผิดชนิด ผิดวิธี (Mistaken plants, Mistaken preparation)
- การปนเปื้อนในสมุนไพร (Contamination)
- สมุนไพรที่มีการปลอมปน (Adulterants)
รู้ถึงการใช้อย่างถูกต้อง หรือมีหลักในการเลือกใช้ยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ถูกต้น เนื่องจากสมุนไพรส่วนใหญ่มีชื่อพ้องหรือซ้ำกัน ชื่อเฉพาะท้องถิ่น ที่อาจเรียกชื่อแตกต่างกันทั้ง ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเหมือนกันแต่เป็นพืชคนละชนิด
ถูกส่วน ส่วนของพืชสมุนไพรแต่ละส่วนราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด หรือความสุก แก่ อ่อน ดิบของสมุนไพร อาจมีองค์ประกอบทางเคมีหรือสารสำคัญที่เหมือนหรือแตกต่างกันได้ หรือในพืชบางชนิดส่วนต่าง ๆของพืชอาจมีสารสำคัญที่เหมือนกันแต่มีปริมาณแตกต่างกัน
ถูกขนาด คือ แม้ว่ายาสมุนไพรหลายชนิดจะไม่อันตราย แต่ปริมาณ/ขนาดของการใช้ที่มากเกินขนาดอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้หรือผลการรักษา โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีความทนต่อยาน้อยกว่าผู้ใหญ่ และระยะเวลาการใช้ ที่ไม่ให้ใช้ติดต่อกันนานเกินกว่าคำแนะนำที่กำหนดควรหยุดยาเพื่อให้ร่างกายได้พักและกำจัดยาออกจากร่างกาย
ถูกวิธี การใช้ยาหรือการนำสมุนไพรมาปรุงประกอบยาให้ถูกต้องถูกตามหลัก เช่น บางชนิดต้องใช้ต้นสด คั้นน้ำ ต้มเคี่ยว ต้มกับน้ำ หรือดองเหล้า เป็นต้น ในกรณีที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นที่แตกต่างจากวิธีโบราณหรือดั้งเดิม จำเป็นต้องศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนจะใช้จริง
ถูกโรค เช่น หากต้องการบรรเทาอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาดจะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้นหรือถ้าหากจะใช้ร่วมกับการรักษาโรค หรือมุ่งหวังผลเพื่อการรักษาโดยตรง แนะนำให้หรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
ยังมีหลักในการพิจารณาและข้อแนะนำก่อนการพิจารณาเลือกใช้
- ควรศึกษาว่าผลิตภัณฑ์นั้นประกอบด้วยสมุนไพรชนิดใดหรือมีส่วนประกอบของสมุนไพรใด หากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นจะได้ทราบว่าเกิดจากสมุนไพรชนิดใด และเก็บข้อมูลในการระวังการใช้ต่อไป
- หมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้สมุนไพรหากเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการใช้สมุนไพร ควรหยุดใช้ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- หญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร และเด็กไม่ควรที่จะใช้สมุนไพรถ้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะสมุนไพรที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย เนื่องจากสารบางชนิดในสมุนไพรสามารถผ่านรก ขับออกทางน้ำนม หรือมีผลต่อการเจริญเติบโตได้
